ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

การประเมินภาวะสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของชุมชน
การประเมินภาวะสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของชุมชนจะนำไปสู่การกำหนดแผนการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนสุขอนามัยต่าง ๆ โดยมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา คือ คน สิ่งแวดล้อมและลักษณะทั่วไปของชุมชน ระบบสังคมและบริการด้านสาธารณสุข
โรคและการเจ็บป่วยที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ
พฤติกรรมสุขภาพจะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการเกิดความเจ็บป่วยของบุคคล ดังนั้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดี เราจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ และมีความตระหนักในการปฏิบัติตนให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
สิ่งแวดล้อมมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิต ตลอดจนสุขภาพของบุคคล เราจึงควรมีความตระหนักในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพของตนเอง ชุมชน และสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพที่สำคัญ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียง

การสร้างศักยภาพของตนเองในการจัดการกับอารมณ์และความเครียด
การสร้างเสริมศักยภาพของตนเองและนำศักยภาพดังกล่าวไปใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองทั้งในด้านการปฏิบัติกิจกรรม การปรับตัว ตลอดจนการดำเนินชีวิตในสังคม


วัยรุ่นกับการพัฒนางานสาธารณสุขชุมชน
ระบบสุขภาพภาคประชาชน เป็นการจัดการงานสาธารณสุขมูลฐานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเอง โดยมีภาครัฐและองค์กรภายนอกคอยให้การสนับสนุน ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการคือ คน คือ สมาชิกในชุมชนที่มาร่วมกันปฏิบัติกิจกรรม องค์ความรู้ เช่น วิทยากร วิธีการ และทุน ประกอบด้วยทุนที่เป็นตัวเงินซึ่งอยู่ในรูปของการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ และทุนทางสังคม การนำองค์ประกอบดังกล่าวมาใช้จะต้องมีการปฏิบัติเพื่อการประสานให้มีการเคลื่อนไหวขององค์ประกอบทั้ง 3 ประการ และให้เกิดการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสุขภาพ เพื่อทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี วัยรุ่นสามารถช่วยเหลือสังคมได้ด้วยการอาสาสมัครช่วยงานสาธารณสุขชุมชน
คำสำคัญ การประเมินภาวะสุขภาพชุมชน พฤติกรรมเสี่ยงของชุมชน โรค พฤติกรรมสุขภาพ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียง ศักยภาพของตนเอง งานสาธารณสุขชุมชน
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th
Comment here