มัธยมศึกษา 5สังคมศึกษา

หลากหลายมุมมองการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม

หลากหลายมุมมองการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม


คำว่า วัฒนธรรม นั้น หมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่พวกของตนผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน

วัฒนธรรม ส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่านทางด้าน ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การละครและภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่าวัฒนธรรมคือ เรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เรื่องของวิทยาศาสตร์ ศิลปะ เช่น ศิลปะของการทำอาหาร และระบบศีลธรรมด้วย

การที่มนุษย์จะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรมนั้น เราไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จากแค่ในตำราหรือในห้องเรียนเท่านั้น แต่เราสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราได้ทั้งนั้น เพราะวัฒนธรรม ก็คือ หนทางทั้งหมดของการดำเนินชีวิตนั่นเอง อาทิ ครอบครัว คนในครอบครัวของเราก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการที่ทำให้เราเข้าใจในความหมายของคำว่า วัฒนธรรม ว่าหมายถึงอะไรและเป็นอย่างไร เพราะจากการเกิดและเติบโตขึ้นมาได้ในสังคมหนึ่งนั้น วัฒนธรรมก็เปรียบเสมือนกับมรดกที่ได้รบการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยผ่านการกระบวนการเรียนรู้จากการอบรมสั่งสอนและประสบการณ์ของ พ่อแม่ จึงทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าคนในสังคมเดียวกันจะมีพฤติกรรม ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยมและการแสดงออกทางวัฒนธรรมเช่นไร

วัด ถือเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนในสังคมเพื่อประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมทางศาสนา ที่เราสามารถเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นได้จากสถานที่แห่งนี้ นอกจากพิธีกรรมหรือกิจกรรมทางศาสนาแล้ว สถาปัตยกรรมหรือภาพเขียนภายในวัดยังบ่งบอกถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับคนในสังคม สามารถทำให้เราเข้าใจถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นนั้นได้เป็นอย่างดี

แหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ล้วนมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีประวัติในการก่อสร้างและบ่งบอกถึงวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่จะถ่ายทอดการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและเชื่อมต่อวัฒนธรรมประเพณีระว่างคนรุ่นเก่าไปสู่คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

การละเล่นพื้นบ้านพื้นเมือง เป็นการแสดงที่เป็นประเพณีนิยมในท้องถิ่นนั้น จะเล่นกันเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดูกาล และการแสดงนั้นจะต้องแสดงออกถึงวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นนั้นด้วย ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมร้องและเล่นกันในงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ การลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว ซึ่งเป็นการละเล่นที่สืบต่อกันมาแต่โบราณกาล การละเล่นพื้นบ้านทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ก็จะมีความแตกต่างกันไป เราสามารถที่จะเรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ได้จากเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ แต่งขึ้นจากสำเนียงภาษาพูดในท้องถิ่น

พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นแหล่งสะสมความรู้ไว้อย่างมากมาย เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เก็บรักษาและจัดแสดงวัฒนธรรมของสังคมหรือท้องถิ่นนั้นๆ เราสามารถที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรมได้อย่างหลากหลายได้จากพิพิธภัณฑ์ เพราะในปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นหลายแห่ง อาทิ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการศึกษา สันทนาการ แสดงความภูมิใจของท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ นอกจากนี้ ปัจจุบันแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ ยังมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น จากแค่เป็นการเก็บ/แสดงวัตถุ เปลี่ยนเป็นการให้ประสบการณ์การเรียนรู้ และความเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กันด้วย อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถือเป็นหอศิลปะระดับชาติแห่งแรกของไทย และเป็นแหล่งรวบรวมงานทางด้านศิลปะอีกด้วย โดยการจัดแสดงศิลปะนั้นจะเรียงตามลำดับเวลา ทำให้เราสามารถที่จะศึกษาถึงความเป็นมาและพัฒนาการของศิลปะในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และอีกสถานที่นึงที่น่าสนใจที่เราสามารถศึกษาหาความรู้เรื่องวัฒนธรรมได้ คือ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการทั้งแบบหมุนเวียนและถาวร โดยนำเสนอเรื่องราวเฉพาะของท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความรักความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมไทย และสามารถนำวัฒนธรรมเหล่านั้นมาปรับใช้ได้อย่างมีคุณภาพในสังคมปัจจุบัน

ปราชญ์ชาวบ้าน สำหรับการเรียนรู้หรือการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรมนั้นการได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านหรือคนในท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีความรู้และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เราสนใจนั้น เราจะได้รับความรู้ที่ตรงประเด็นและละเอียดอย่างมาก เพราะว่าปราชญ์ชาวบ้านจะได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย เป็นบุคคลที่มีองค์ความรู้จากการหล่อหลอม ซึมซับ บ่มเพาะ ค้นคว้า ทดลองโดยใช้วิถีชีวิตของตนเองเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่มาแล้ว และมีการกลั่นกรองความคิด สิ่งที่มีคุณค่าที่จะสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น ได้สืบสานทั้งที่เป็นมรดกและที่เป็นสมบัติทางปัญญาต่อไป

การใช้ Internet เป็นอีกหนึ่งช่องทางหนึ่งที่ทันสมัยและเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ที่เราจะสามารถเรียนรู้หรือว่าสืบค้นเกี่ยวกับเรื่องราวของวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะ Internet ถือเป็นคลังข้อมูลที่จะเชื่อมโยงข้อมูลที่เราสนใจได้จากทั่วทุกมุมโลก และเราสามารถเข้าไปสืบค้นได้โดยวิธีง่ายๆ ทำให้สะดวก รวดเร็วและประหยัดเวลา

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการที่เราจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรมนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดอยู่แค่เฉพาะในห้องเรียนหรือในตำราเรียนเท่านั้น เพราะเรายังมีช่องทางอื่นๆ ที่สามารถทำให้เราได้รับความรู้เพิ่มเติม เพียงแต่ว่าเราจะเลือกใช้จากช่องทางไหนเท่านั้นเองที่จะทำให้เราได้รับความรู้มากที่สุด และสามารถเก็บรวบรวมความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อย่างเป็นระบบ และสามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังคนรุ่นหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

Comment here