ภาษาไทยมัธยมศึกษา 4มัธยมศึกษา 5มัธยมศึกษา 6

บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง บทร้อยกรอง

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



เรื่องย่อ ราตรี
   บทร้อยกรองเรื่อง “ราตรี” อาศัยธรรมชาติเป็นสื่อกลางเพื่อส่งสารไปยังผู้อ่านว่า ความจริงแล้ว ความสุขอันเป็นที่สุดที่มนุษย์เราต้องการนั้นคือความสุขที่เกิดจากการหลุดพ้น (นิพพาน) มิใช่ความสุขจากการลุ่มหลงบางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว

ประวัติผู้แต่ง
   มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถือเป็นบุคคลสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาของชาติ นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านการประพันธ์ นามปากกาที่ใช้คือ “ครูเทพ” และ “เขียวหวาน”

สาระน่ารู้
   ฉันท์ หมายถึง คำประพันธ์ที่บังคับเสียงหนัก (ครุ) และเสียงเบา (ลหุ)

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ความมุ่งหมายของกวีอยู่ที่บทสุดท้ายที่มีความหมายว่า ความสุขอื่นใดในโลกไม่อาจเทียบเท่าความสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นหรือนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา


เรื่องย่อ เปิบข้าว
   บทกวี “เปิบข้าว” เป็นการพรรณนาความรู้สึกของชาวนาถึงความยากลำบากในการปลูกข้าว ตั้งแต่เริ่มต้นการปลูก จนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่กลายมาเป็นเมล็ดข้าว ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง


ประวัติผู้แต่ง
   จิตร ภูมิศักดิ์ แนวคิดและผลงานของเขาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงต่าง ๆ ผลงานที่เป็นบทกวี ได้แก่ สู้อย่างไร กลิ่นรวงทอง และนักปรัชญาบอกข้าที นามปากกาที่ใช้ เช่น ทีปกร นาคราช ศรีนาคร บุ๊คแมนมูวี่แมน สมชาย ปรีชาเจริญ และศิลป์ พิทักษ์ชน


สาระน่ารู้
   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์เรียงความที่เกี่ยวข้องกับบทกวีเปิบข้าวไว้ในหนังสือ “มณีพลอยร้อยแสง” หมวด “ชวนคิดพิจิตรภาษา” เรื่อง “ทุกข์ของชาวนาในบทกวี” มีใจความดังนี้
 

                                           เปิบข้าวทุกคราวคำ             จงสูจำเป็นอาจิณ
                                        เหงื่อกูที่สูกิน                         จึงก่อเกิดมาเป็นคน
                                           ข้าวนี้น่ะมีรส                      ให้ชนชิมทุกชั้นชน
                                        เบื้องหลังสิทุกข์ทน                และขมขื่นจนเขียวคาว
                                           จากแรงมาเป็นรวง               ระยะทางนั้นเหยียดยาว
                                        จากรวงเป็นเม็ดพราว              ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
                                           เหงื่อหยดสักกี่หยาด            ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
                                        ปูดปูนกี่เส้นเอ็น                     จึงแปรรวงมาเปิบกิน
                                           น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                และน้ำแรงอันหลั่งริน
                                        สายเลือดกูทั้งสิ้น                   ที่สูซดกำซาบฟัน


ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ช่วยบอกความในใจของชาวนาให้ทุกคนที่กินข้าวทราบว่า พวกเขาต้องเหนื่อยยากแสนสาหัส และเรื่อง “ทุกข์ของชาวนาในบทกวี” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ ก็ได้ทรงเปรียบเทียบบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ กับบทกวีของหลี่เชิน เพื่อให้เห็นว่ามิได้มีแต่เพียงชาวนาไทยเท่านั้นที่ยากลำบาก ชาวนาในประเทศอื่นก็ประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกัน และเป็นเช่นนี้มานาน



เรื่องย่อ สวรรค์ชั้นกวี
   “สวรรค์ชั้นกวี” แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกพรรณนาทัศนียภาพของสวรรค์ตามจินตนาการของกวี ช่วงหลังแสดงความคารวะต่อกวีว่าดวงวิญญาณของกวีที่ล่วงลับไปแล้วได้ไปสถิต ณ แดนสวรรค์ที่ทรงตั้งชื่อว่า สวรรค์ชั้นกวี


สาระน่ารู้
   สามกรุง เป็นบทพระราชนิพนธ์เรื่องสุดท้ายของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ จัดอยู่ในประเภทวรรณคดียอพระเกียรติและวรรณคดีประวัติศาสตร์ บางคนจัดไว้ในประเภทวรรณคดีการเมืองด้วย เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันการเมือง ครอบคลุมประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัชกาลที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วิธีการนำเสนอใช้รูปแบบการบรรยาย พรรณนาและวิพากษ์วิจารณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังมีส่วนที่แสดงอารมณ์และความรู้สึกที่รุนแรงของผู้นิพนธ์ ซึ่งอาจมาจากความสะเทือนใจหรือแรงกดดันบางประการ


ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   การอ่านกวีนิพนธ์ทำให้ได้รับอรรถรสด้านเนื้อหา ภาษา และความบันเทิงใจ ดังนั้นผู้อ่านจึงควรรำลึกถึงคุณงามความดีของกวีผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า

คำสำคัญ ราตรี นิพพาน ฉันท์ ครุ ลหุ เปิบข้าว การปลูกข้าว ความลำบาก สวรรค์ชั้นกวี



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th 

Comment here