มัธยมศึกษา 3สังคมศึกษา

การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

แนวคิดประชาธิปไตย มีต้นกำเนิด ณ เมืองเอเธนส์ ภายใต้อารยธรรมกรีกโบราณ ประชาธิปไตยแบบกรีกเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน ที่รัฐประชาธิปไตยต่างใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาธิปไตยแบบตัวแทนนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย มีปัญหาประการสำคัญคือ เมื่อผู้แทนราษฎรเข้าไปในสภาแล้ว กลับไม่ได้เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนที่เลือกเข้ามา ทำให้การปกครองไม่ได้เป็นไปตามเสียงของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขจุดอ่อนในเรื่องนี้ นักวิชาการได้นำเสนอประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาแทน ซึ่งหลักการสำคัญก็คือ ประชาชนสามารถใช้อำนาจของตนได้เสมอ แม้ว่าได้มอบอำนาจให้กับผู้แทนไปแล้วก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังสามารถเฝ้าดู ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ควบคุม และแทรกแซงการทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชนได้เสมอ โดยสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ 4 ลักษณะ ดังนี้

ภาพ : shutterstock.com

1. การเรียกคืนอำนาจโดยการถอดถอน หรือปลดออกจากตำแหน่ง

เป็นการควบคุมการใช้อำนาจของผู้แทนของประชาชน ในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทนประชาชน หากพบว่าผู้แทนของประชาชนใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยทุจริต หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สามารถเรียกร้องอำนาจที่ได้รับมอบไปนั้นกลับคืนมา โดยการถอดถอน หรือปลดออกจากตำแหน่งได้

2. การริเริ่มเสนอแนะ

เป็นการทดแทนการทำหน้าที่ของผู้แทนของประชาชน หรือเป็นการเสริมการทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ประชาชนสามารถเสนอแนะนโยบาย ร่างกฎหมาย รวมทั้งมาตรการใหม่ๆ เองได้

3. การทำประชาพิจารณ์

เป็นการแสดงออกของประชาชนในการเฝ้าดู ตรวจสอบ และควบคุมการทำงานของตัวแทนของประชาชน ในกรณีที่เตรียมออกกฎหมาย หรือกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ตาม อันมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนสามารถเรียกร้องให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริง และผลดีผลเสีย ก่อนการออกหรือบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย หรือมาตรการนั้นๆ ได้

4. การแสดงประชามติ

ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสำคัญ หรือการออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก เช่น การขึ้นภาษี การสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้า ฯลฯ ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย สามารถเรียกร้องให้รัฐรับฟังมติของประชาชนเสียก่อนที่จะตรากฎหมาย หรือดำเนินการสำคัญ โดยจัดให้มีการลงประชามติเพื่อถามความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ อันเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเสียก่อน

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ

เครดิต ทรูปลูกปัญญา

Comment here