มัธยมศึกษา 3สังคมศึกษา

ประชาธิปไตย

ตามวาทะของ “อับราฮัม ลินคอล์น” ระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยคำว่าประชาธิปไตย แปลว่า อธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน โดยประชาชนจะเป็นผู้เลือกตัวแทนเพื่อใช้อำนาจในการปกครองสูงสุดนั้น ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการปกครอง ต้องเสนอตัวให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรมเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน อีกทั้งยังมีแนวทางในการสร้างสรรค์ และพัฒนาชีวิตที่ดีให้กับประชาชนด้วย

ภาพ : shutterstock.com

ประชาธิปไตยประกอบไปด้วยหลักการสำคัญที่เป็นแก่นแกน 5 ประการ ได้แก่

1. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นผู้กำหนด ผู้ปกครอง โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

2. หลักเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตยถือว่าประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพทั้งในการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

3. หลักความเท่าเทียม มนุษย์เกิดมามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในเรื่องโอกาสในการพัฒนาคุณภาพ และความรู้ความสามารถ เพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องประโยชน์ของตนได้

4. หลักฎหมาย ปรัชญาสำคัญของกฎหมายคือ ชนชั้นใดเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย ย่อมทำเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง จึงกำหนดให้ประชาชนมีอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

5. หลักเสียงข้างมาก ยึดหลักที่ว่าการตัดสินใจใดๆ ทางการเมือง ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงกำหนดให้เสียงข้างมากเป็นการตัดสิน

การพัฒนาประชาธิปไตยประกอบด้วยแนวทางสำคัญ 2 ประการคือ

– ประการแรก การพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย แนวทางนี้เป็นบันไดขั้นต้นของทุกสังคมที่จะก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตย คือการพัฒนาให้สังคมปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องกำหนดโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้เป็นไปตามปรัชญา และหลักการประชาธิปไตยอย่างครบถ้วน

– ประการที่สอง การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย หมายถึง แบบแผนทัศนคติและพฤติกรรมของบุคคลที่มีต่อระบบการเมือง และองค์กรการเมือง เป็นผลมาจากกระบวนการหล่อหลอมอบรมทางการเมือง ที่ถ่ายทอดสืบเนื่องกันมาทั้งทางตรง และทางอ้อม


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ

เครดิต ทรูปลูกปัญญา

Comment here