ภาษาไทยมัธยมศึกษา 2

บทอาขยานจากบทร้อยกรองที่มีคุณค่า

คุณค่าด้านภาษาและอารมณ์ รวมทั้งวัฒนธรรมของวรรณคดี แสดงออกมาได้ดีด้วยบทร้อยกรองที่สละสลวย งดงาม ความไพเราะของเสียงอักษร และสระที่ได้รับการบรรจงเรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ ชักนำอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน ให้ดำดิ่งลึกลงไปกับภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และบทร้อยกรองที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ ก็ถูกถ่ายทอดออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นบทอาขยานในที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

ลักษณะบทร้อยกรองที่มีคุณค่า คือ

1. ให้คุณค่าด้านอารมณ์ คำประพันธ์ที่ไพเราะจะใช้คำได้เหมาะสมลึกซึ้งกินใจ ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดอารมณ์และจินตนาการตาม

2. ให้คุณค่าด้านความรู้ต่างๆ เช่น ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ซึ่งสอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง

3. ให้คุณค่าด้านสังคม คำประพันธ์ที่มีคุณค่าจะช่วยพัฒนาจิตใจผู้ฟังผู้อ่าน เพราะผู้แต่งสอดแทรกคุณธรรมและคติธรรมไว้ ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจชีวิต เข้าใจผู้คนในสังคม มีความรักและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ รวมทั้งเกิดความเข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนมากขึ้น

ด้วยความที่บทร้อยกรองมีฉันทลักษณ์ชัดเจน มีจังหวะที่ลงตัว มีความไพเราะของเสียงสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ทำให้ง่ายต่อการท่องจำมากกว่าบทร้อยแก้ว ทั้งยังเป็นเสียงเสนาะน่าฟัง การประพันธ์วรรณคดีเป็นร้อยกรองจึงได้รับความนิยมมาก และการท่องบทอาขยานจากบทร้อยกรองที่ทรงคุณค่าก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน

ตัวอย่างบทอาขยาน

“อันชาติใด ไร้ศานติ สุขสงบ​
ต้องมัวรบ ราญรอน หาผ่อนไม่
ณ ชาตินั้น นรชน ไม่สนใจ
ในศิลปะ วิไล ละวาดงาม

แต่ชาติใด รุ่งเรือง เมืองสงบ​
ว่างการรบ อริพล อันล้นหลาม​
ย่อมจำนง ศิลปะ สง่างาม​
เพื่ออร่าม เรืองระยับ ประดับประดา

อันชาติใด ไร้ช่าง ชำนาญศิลป์
เหมือนนาริน ไร้โฉม บรรโลมสง่า
ใครใครเห็น ไม่เป็นที่ จำเริญตา
เขาจะพา กันเย้ย ให้อับอาย

ศิลปกรรม นำใจ ให้สร่างโศก​
ช่วยบรรเทา ทุกข์ในโลก ให้เหือดหาย
จำเริญตา พาใจ ให้สบาย
อีกร่างกาย ก็จะพลอย สุขสราญ

แม้ผู้ใด ไม่นิยม ชมสิ่งงาม​
เมื่อถึงยาม เศร้าอุรา น่าสงสาร
เพราะขาด เครื่องระงับ ดับรำคาญ
โอสถใด จะสมาน ซึ่งดวงใจ

เพราะการช่าง นี้สำคัญ อันวิเศษ
ทุกประเทศ นานา ทั้งน้อยใหญ่
จึงยกย่อง ศิลปกรรม์ นั้นทั่วไป
ศรีวิไล วิลาศดี เป็นศรีเมือง”

(อาขยานบทหลัก บทเสภาสามัคคีเสวก ตอน วิศวกรรมา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตัวอย่างการถอดความหมาย

1. “อันชาติใด ไร้ศานติ สุขสงบ​
ต้องมัวรบ ราญรอน หาผ่อนไม่
ณ ชาตินั้น นรชน ไม่สนใจ
ในศิลปะ วิไล ละวาดงาม

แต่ชาติใด รุ่งเรือง เมืองสงบ​
ว่างการรบ อริพล อันล้นหลาม​
ย่อมจำนง ศิลปะ สง่างาม​
เพื่ออร่าม เรืองระยับ ประดับประดา”

ถอดความ

ชาติที่ไม่มีความสงบสุข เพราะต้องรบราฆ่าฟันกันตลอดเวลา คนในชาตินั้นก็จะไม่มีเวลามาสนใจในความงามของงานศิลปะ แต่ชาติใดที่บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการสงครามกับข้าศึก ประชาชนย่อมต้องการงานศิลปะ เพื่อความรุ่งเรืองของสังคมและบ้านเมือง

2. “อันชาติใด ไร้ช่าง ชำนาญศิลป์
เหมือนนาริน ไร้โฉม บรรโลมสง่า
ใครใครเห็น ไม่เป็นที่ จำเริญตา
เขาจะพา กันเย้ย ให้อับอาย

ศิลปกรรม นำใจ ให้สร่างโศก​
ช่วยบรรเทา ทุกข์ในโลก ให้เหือดหาย
จำเริญตา พาใจ ให้สบาย
อีกร่างกาย ก็จะพลอย สุขสราญ”

ถอดความ

ชาติใดที่ขาดผู้ชำนาญในงานศิลปะ ก็เหมือนผู้หญิงที่ไม่สวย ใครเห็นก็ไม่ชอบ มองไม่รู้สึกสบายตา และพากันเยาะเย้ยให้อับอาย งานศิลป์นั้นช่วยให้ใจหายเศร้าโศก ช่วยให้ความทุกข์เบาลงหรือหายไปได้ การที่ตาเห็นสิ่งสวยงาม จะทำให้จิตใจสบาย พลอยทำให้ร่างกายสบายไปด้วย

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว

เครดิต ทรูปลูกปัญญา

Comment here