มัธยมศึกษา 2สังคมศึกษา

สิทธิของผู้บริโภค

ในการอุปโภคบริโภคสิ่งต่างๆ นั้น ผู้อุปโภคหรือผู้บริโภคควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของตนเองในการบริโภค สิทธิของผู้อุปโภคหรือผู้บริโภคในแง่นี้หมายถึง การมีสิทธิในการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของตัวเองอันเกิดขึ้น ภายใต้กระบวนการในการบริโภคดังกล่าว ตัวอย่างที่สำคัญเช่น การที่ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิที่จะสามารถตรวจสอบที่มา หรือองค์ประกอบที่สำคัญของสินค้าที่ตนจะบริโภค ว่ามาจากแหล่งใด หรือประกอบด้วยสารเคมีชนิดใด หรือผู้บริโภคสามารถมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการ มีความรับผิดชอบหากเกิดปัญหา หรือเกิดโทษขึ้นเนื่องจากการบริโภคสินค้า และบริการของผู้ผลิตรายดังกล่าว

ภาพ : shutterstock.com

การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคนั้น อาจจะสามารถพิจารณาได้ว่า เป็นรากฐานของความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่สำคัญประการหนึ่ง กล่าวคือ หากสังคมนั้นปราศจากการตรวจสอบ หรือการไตร่ตรองในสิทธิและเสรีภาพของผู้บริโภค ที่มีต่อการบริโภคสินค้าและบริการแล้ว ผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ไม่มีจรรยาบรรณ อาจจะพิจารณาช่องว่างในประเด็นนี้ แล้วทำการผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน และป้อนสินค้าเหล่านั้นเข้าสู่ตลาด เมื่อสภาวะของการผลิตและการบริโภคดำรงอยู่ในลักษณะของความสัมพันธ์ดังกล่าว ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติย่อมที่จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ สิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งถูกต้องตามข้อเท็จจริง อาจจะถือเป็นอีกหนึ่งสิทธิที่สำคัญของผู้บริโภค สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง เป็นสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งในการพิจารณาการบริโภคของประชาชน ให้อยู่ในบรรทัดฐานแห่งความถูกต้องและเหมาะสม การริดรอนสิทธิของประชาชน หรือผู้บริโภคด้วยการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในลักษณะหนึ่ง ผู้บริโภคควรจะตระหนักถึงสิทธิอันสำคัญข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง และไม่ควรปล่อยให้ตัวเองถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคในลักษณะดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ การให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จึงมิใช่เป็นเพียงข้อเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของบุคคล หากแต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิของตนเอง อันเป็นรากฐานที่สำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชาติในภาพรวมต่อไป

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ

เครดิต ทรูปลูกปัญญา

Comment here