มัธยมศึกษา 1สังคมศึกษา

การคุ้มครองสิทธิ

“สิทธิ” ถือเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของชีวิตปัจเจกชน ซึ่งมิอาจจะถูกพรากออกไปได้ ทุกประเทศต่างมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิในปัจเจกบุคคลเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น การคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของกฎหมายนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อช่วยเหลือ และปกป้องมนุษย์จากความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบ หรือการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งสมาชิกในสังคมควรเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกติกาของสังคม หรือก็คือการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้โดยผาสุก

ภาพ : shutterstock.com

เราพบว่า ภายใต้สถานการณ์อันเป็นปกตินั้น บุคคลหนึ่งๆ อาจถูกพรากสิทธิอันชอบธรรมไปจากตัวได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละประเทศจึงมีกฎหมายที่ช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิให้แก่ปัจเจกบุคคล ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น

กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายการศึกษา ที่มองว่าเด็กทุกคนนั้นสมควรที่จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

หรือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่มองว่า ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิ์ที่จะรับการคุ้มครองจากการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ และสามารถเรียกร้องสิทธิ์อันถูกละเมิดไปจากการบริโภคนั้นๆ ด้วย

ในขณะเดียวกัน กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์คือ กฎหมายที่ช่วยปกป้องผู้ผลิต จากการถูกเอาเปรียบในรูปแบบของการลอกเลียนความคิด ซึ่งตนใช้ปัญญาและความสามารถในการประดิษฐ์ขึ้นมา

เยาวชนในประเทศสมควรที่จะต้องเรียนรู้เรื่องการรักษาสิทธิของตนเอง ในขณะเดียวกัน ก็ควรเรียนรู้ที่จะไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หลักการเบื้องต้นคือ การมีจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม เช่น เคารพในกติกาของสังคม ปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของชุมชน หรือสังคม จุดเริ่มต้นเช่นนี้คือ พื้นฐานที่นำไปสู่การเข้าใจความหมายของการเคารพสิทธิ์ในภาพที่กว้างขึ้นไป เช่น การมีความรับผิดชอบต่อสังคม การให้ความสำคัญกับการเคารพในสิทธิ และความเห็นทางการเมืองของผู้อื่น รวมไปถึง ความสามารถในการดำรงชีวิตร่วมกับผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งเป็นสิทธิ์อันพึงมีของปัจเจกชน



เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ

เครดิต ทรูปลูกปัญญา

Comment here